CALL CENTER 0-32211-176

ทศวรรษที่ 1 การเริ่มต้น

(2508-2517)

โรงเรียนอุดมวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นโดยนายประสิทธิ์ ชัยเจริญ ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นอนุบาลปีที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2497 รับนักเรียนชาย – หญิงทั้งประจำและไป – กลับ เริ่มเปิด ทำการสอนตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 และชั้นอนุบาลปีที่ 2 รวม 4 ห้องเรียน มีนักเรียน 75 คน ครู 5 คน โดยมี นายประสิทธิ์ ชัยเจริญ เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและเป็นผู้จัดการ นางสาวสรรเสริญ บำราศอรินทร์พ่าย เป็นครูใหญ่ อาคารเรียนเดิมเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่เลขที่ 187 ถนนทรงพล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีต่อมาในปี พ.ศ. 2498 นายประสิทธิ์ ชัยเจริญ ได้โอนกิจการให้นางสาวปราณี วังตาล ดำเนินการเป็นเจ้าของ
ปีการศึกษา 2499 ได้ขออนุญาตเปิดชั้นเรียนเพิ่ม ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และแต่งตั้งนายวิสุทธิ์ กาญจนสินธุ เป็นครูใหญ่ จนถึงปี พ.ศ. 2501 นายวิสุทธิ์ กาญจนสินธุ ได้ลาออก จึงแต่งตั้งนางสาวรัตนา มุ่งหมาย เป็นครูใหญ่แทนสืบมา
ปีการศึกษา 2502 นางสาวปราณี วังตาล ได้โอนกิจการให้นายอุดม วังตาล ดำเนินการเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง และแต่งตั้งนางวิไลวรรณ วังตาล เป็นผู้จัดการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 นางสาวรัตนา มุ่งหมาย ได้ลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่ จึงแต่งตั้งนางวิไลวรรณ วังตาล เป็นครูใหญ่แทน
เนื่องจากจำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานที่เดิมคับแคบและอาคารเรียนไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2507 จึงได้ย้ายโรงเรียนจากที่เดิมมาตั้งในที่ปัจจุบัน ณ เลขที่ 257/1 ถนนบ้านดอนตูม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 63 8/10 ตารางวา ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ 500 เมตร มีอาคารเรียนเป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง กับตึก 2 ชั้น 1 หลัง อาคารหอประชุม 1 หลัง

ทศวรรษที่ 2 การสร้างรากฐานที่เข้มแข็ง

(2508-2517)

โรงเรียนได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 4 ในปีพุทธศักราช 2509 และได้ดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนจนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง
ในปีพุทธศักราช 2510 โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และขยายเพิ่มระดับชั้นทุกปีจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ในปีพุทธศักราช 2512 และได้การรับรองวิทยฐานะจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เช่นกัน เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โรงเรียนจึงสร้างอาคารเรียนใหม่อีก 1 หลัง ในปีพุทธศักราช 2512 เป็นอาคาร 3 ชั้น เรียกว่า อาคาร 4 มีทั้งหมด 16 ห้องเรียน เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น

ทศวรรษที่ 3 การเริ่มต้น

(2518-2527)

ด้วยความเอาใจใส่ของนักเรียนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมุ่งเน้นการพัฒนาวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนอุดมวิทยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจบุตรหลานมาเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่เพียงแต่จะรับนักเรียนในบ้านโป่งเท่านั้น นักเรียนจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และอื่นๆ ก็ได้มาเรียนที่นี่เช่นกัน
จากการที่นักเรียนซึ่งจบการศึกษาไปแล้ว ได้สร้างชื่อเสียงทางด้านวิชาการ เมื่อไปศึกษาต่อในสถานศึกษาระดับมัธยม ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ปกครองอย่างมาก และเมื่อโรงเรียนไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่ต้องการมาเรียนที่นี่ทุกคน จึงเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ แต่ละปีผู้ปกครองจะต้องมารอสมัครเรียนแต่เช้าตรู่ เพื่อที่จะได้สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนอุดมวิทยาได้ เพราะนโยบายของโรงเรียนไม่เน้นการสอบเข้า
ความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และการเอาจริงเอาจังในการจัดการเรียนการสอนของคณะครูที่ต้องการ ให้นักเรียนได้รับความรู้เต็มศักยภาพ อีกทั้งอบรมให้เป็นคนที่มีคุณธรรมนั้น ได้ผลจนเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ปกครองและชุมชน ส่งผลให้โรงเรียนอุดมวิทยามีการขยายอาคารเรียนใน 2 ปี ถัดมา

ทศวรรษที่ 4 ชื่นชมกับผลงานพัฒนา

(2528-2537)

ในปีพุทธศักราช 2529 โรงเรียนอุดมวิทยาได้ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้น โดยต่อเติมอาคาร 2 และอาคาร 3 จากชั้นเดียวเป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องเรียนอนุบาลเพิ่มขึ้นอีก 8 ห้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงห้องสมุดใหม่ โดยย้ายมาอยู่ที่อาคารอำนวยการ มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร ทำให้สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่มาใช้ห้องสมุดได้มากขึ้น
โรงเรียนอุดมวิทยาได้พัฒนาการจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น จึงเห็นความสำคัญของห้องประกอบการเรียนการสอนที่จะช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ในปีพุทธศักราช 2532 จึงได้สร้างอาคารอนุสรณ์ 36 ปี เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงอเนกประสงค์ ชั้น 2 ถึงชั้น 4 เป็นห้องเรียนและห้องประกอบ อาทิ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องโสตทัศนศึกษา และห้องโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น
นอกจากจะพัฒนาการจัดการศึกษาแล้ว โรงเรียนอุดมวิทยายังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียน ในปีการศึกษา 2534 จึงได้ปรับปรุงระบบบริหาร โดยวางโครงสร้างการบริหารเป็น 8 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปรัชญานโยบายและแผน ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนักเรียน ฝ่ายอาคารสถานที่และบริการ ฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน ฝ่ายธุรการและการเงิน และฝ่ายประสิทธิผลของโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน
ในปีการศึกษา 2537 ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารอีกครั้ง โดยแบ่งโครงสร้างการบริหารออกเป็น 6 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนักเรียน ฝ่ายอาคารสถานที่และบริการ ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน และฝ่ายธุรการและการเงิน เพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหาร
และในปีเดียวกันโรงเรียนอุดมวิทยาได้สร้างอาคารเรียนอีก 1 หลัง ชื่อว่า อาคารสิริวิไล เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงอเนกประสงค์ ชั้น 2 ถึงชั้น 4 เป็นห้องเรียนและห้องประกอบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ ชั้นดาดฟ้าเป็นห้องอเนกประสงค์
ในปีการศึกษา 2537 ได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานธุรการและการเงิน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหาร

ทศวรรษที่ 5 มุ่งสู่สังคมศตวรรษที่ 21

(2538-2547)

โรงเรียนอุดมวิทยาได้ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 พร้อมกับการที่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้นโรงเรียนจึงได้จัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรการสอนของโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2538 เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนสู่ยุค Information Technology (IT)
โรงเรียนมีการพัฒนามุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาพุทธศักราช 2542 โดยเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการบริหารโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 ดังนี้
ด้านบริหาร
ปีการศึกษา 2538 วันที่ 6 กันยายน 2538 นายอุดม วังตาล ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอุดมวิทยา ได้ถึงแก่กรรม นางสาวลลิดา วังตาล จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รับใบอนุญาตแทน และวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 นางวิไลวรรณ วังตาล ได้ขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการและครูใหญ่ นางสาวลลิดา วังตาล จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการ และ นางสาวเจนจิรา ศรีพิจารณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ นางวิไลวรรณ วังตาล และนายอดุลย์ วังตาล เป็นที่ปรึกษาของโรงเรียน
โรงเรียนได้จัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ในปีการศึกษา 2542 นอกจากนั้นได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อการบริหารงานโดยชุมชนมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542
ด้านการรับรองคุณภาพของสถานศึกษานั้น โรงเรียนได้มีการจัดระบบประกันคุณภาพภายในประจำปี เพื่อเป็นการประเมินตนเองให้ได้มาตรฐาน และพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.)
ด้านการพัฒนาบุคลากร
จากพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ที่ว่าด้วยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญจึงนำสู่การเสริมความรู้ให้กับครูในเรื่องของการนำนวัตกรรมการเรียนการสอน เทคนิคการสอน ตลอดจนทฤษฎีการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อที่ครูจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
โรงเรียนยังได้สนับสนุนครูในการพัฒนาตนเอง จนครูได้รับคัดเลือกเป็นครูต้นแบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เป็นการวางรากฐานไปสู่การรับรองมาตรฐานวิชาชีพครู (NTQ) ในอนาคต
ด้านการพัฒนาการจัดการศึกษา
ในปีการศึกษา 2545 โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนเพื่อสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยมีวิสัยทัศน์ของหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองความว่า “ภายในปีพุทธศักราช 2555 โรงเรียนอุดมวิทยาเป็นเลิศและเป็นแหล่งบริการด้านวิชาการ และการวิจัยการเรียนการสอน ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ด้านสื่อ อุปกรณ์ นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอน สื่อ อุปกรณ์ นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาผู้เรียนเต็มศักยภาพ
มุ่งสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีสุขภาพกายจิตสมบูรณ์ รักท้องถิ่นและประเทศชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นไทย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานชาติและสากล มีทักษะการคิดสามารถแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล มีทักษะการทำงาน ทักษะการจัดการและทักษะการสื่อสาร สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถศึกษาต่อและมีความรู้พื้นฐาน ในการประกอบอาชีพ รู้เท่าทันสังคมโลก สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”
ด้านการพัฒนาอาคารสถานที่
ในปีการศึกษา 2543 ได้ย้ายห้องสมุดของโรงเรียนมาอยู่ที่อาคาร 4 ให้ชื่อว่า ห้องสมุดอุดมวังตาล มีพื้นที่ 224 ตารางเมตร และจัดทำทางเดินเท้าริมสนามฟุตบอล จัดวางโต๊ะสนามเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียน นั่งพักผ่อน ทำให้เกิดบรรยากาศในโรงเรียนที่ดี
ด้วยเห็นความสำคัญของห้องสมุด ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน ในปีการศึกษา 2544 จึงได้ขยายห้องสมุดต่อจากเดิม สร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยพื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องสมุด มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับห้องสมุดในการค้นหาข้อมูล และหนังสือ นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบ Internet ให้คุณครูและนักเรียนได้ใช้ค้นหาข้อมูลต่างๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นห้องประกอบและห้องประชุม

ทศวรรษที่ 6 ความผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับวิถีความพอเพียง และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

(2548-2557)

จากการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิตของผู้คนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทุกๆ อย่างในชีวิตล้วนเกี่ยวพันกับเทคโนโลยี จนทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความสะดวกสบายและง่ายดาย โดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบ ที่สำคัญ ส่งผลถึงกระแสวัตถุนิยม ที่ผู้คนถูกกระตุ้นให้บริโภคจนเกินความจำเป็น ดังนั้น โรงเรียนจึงมีบทบาทหน้าที่ในการปลูกฝังนักเรียนให้ใช้ชีวิตอยู่ในวิถีแห่งความพอเพียง รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามความจำเป็นเท่านั้น ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระยะที่ 3 ( พ.ศ. 2550 – 2554 ) จึงมีวิสัยทัศน์ว่า “โรงเรียนอุดมวิทยาเป็นสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานในการบริหาร บุคลากรมีคุณภาพ มีความมุ่งมั่น ในการพัฒนานักเรียนให้มีดุลยภาพทั้งด้านคุณธรรมและความรู้เต็มศักยภาพของแต่ละคน บนพื้นฐาน ความเป็นไทย มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบในด้านการศึกษา โรงเรียนมีบทบาทในการเตรียมนักเรียนสู่การเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ดังนั้นแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระยะที่ 4 (2555 – 2557) จึงมีวิสัยทัศน์ว่า “โรงเรียนอุดมวิทยาเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่มุ่งสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน”
และจากสภาพสังคมเมืองที่มีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น โรงเรียนจึงสนองความต้องการของผู้ปกครองรุ่นใหม่ โดยเปิดรับนักเรียนเตรียมอนุบาล ในปีการศึกษา 2550 อีก 2 ห้องเรียน
ในปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่ เป็นอาคารเรียนและสระว่ายน้ำ เพื่อให้มีสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์นักเรียนได้อย่างหลากหลายมากขึ้น และในปีการศึกษา 2554 โรงเรียนอุดมวิทยาได้เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และสร้างเจตคติที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ในเด็กอนุบาล ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
ในปี พ.ศ. 2555 โรงเรียนได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดสอบตามโครงการ “การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา” ระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษา
ในปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องไม่มี” ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 และสถานศึกษา
ในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้เริ่มจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติม โดยจัดให้มีโปรแกรม IEP (Intersive English Program) ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำหรับนักเรียนที่มีความพร้อม

ทศวรรษที่ 7 เข้าสู่ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21

(2558-ปัจจุบัน)

ผลจากการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้จากเทคโนโลยีสารสนเทศง่ายขึ้น นักเรียนขาดการคิดวิเคราะห์ โรงเรียนอุดมวิทยาจึงได้วางแผนส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะกระบวนการคิด เพิ่มเติมมากขึ้น
ในปีการศึกษา 2558 เนื่องจากแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ.2555 – 2557) ได้สิ้นสุดลง โรงเรียนอุดมวิทยาจึงได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระยะที่ 5 (พ.ศ.2558 – 2560) ที่มีวิสัยทัศน์ว่า “โรงเรียนอุดมวิทยาส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิด ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา มีคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดค่านิยมหลักของไทย มีสุขภาวะที่ดี พัฒนาคุณภาพครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”
และในปีการศึกษา 2558 โรงเรียนอุดมวิทยาได้เข้าร่วมในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “โครงการพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปฐมวัย โรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน” และบันทึกข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสมาคมประถมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง “โครงการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรนำร่องวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการนำไปใช้
และในปีการศึกษา 2559 จากการลงนามความร่วมมือ “โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TEDET) ระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ลงนามในแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือในโครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TEDET) ระดับประถมศึกษา ประจำปี 2559” ระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษา
และในปลายปีการศึกษา 2559 หลังจากกลับจากศึกษาดูงานองค์กรการกุศลข้ามชาติ มูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน โรงเรียนอุดมวิทยาได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยและศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งเข้าร่วมเป็น 1 ใน 14 โรงเรียนวิถีคุณธรรม ภายใต้แผนงานการสนับสนุนการพัฒนาเชิงนโยบาย โดยศูนย์คุณธรรมมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบกิจกรรมการพัฒนา การติดตามส่งเสริมทีมวิทยากรและหลักสูตรต่างๆ ในการพัฒนาด้านคุณธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมความสำเร็จได้ และจะได้เริ่มปฏิบัติในปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนอุดมวิทยาได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอน โดยนำรูปแบบกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ใช้นวัตกรรมการเรียนรู้แบบครบวงจรผ่านคอมพิวเตอร์ (LEARNING SOLUTION) ในห้อง Computer LAB วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 และนอกจากนั้นได้จัดทำห้องปฏิบัติการ STEM LAB เพื่อรองรับการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรม STEM ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 5 ทั้งนี้เพื่อเตรียมเด็กรุ่น Gen Z เข้าสู่สังคมไทยยุค 4.0 ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี
ปีการศึกษา 2561 เปิดใช้อาคารเรียนหลังใหม่ อาคารสิริอุดมวิทย์ โดยย้ายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มาเรียนที่อาคารหลังนี้ พร้อมจัดให้มีการเรียนการสอนว่ายน้ำในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้สระว่ายน้ำ “อุดมวิท” ซึ่งอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารสิริอุดมวิทย์
ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนอุดมวิทยาได้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยนำรูปแบบการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding) และ Robotics ซึ่งก็คือทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบระเบียบ และรู้จักนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง โดยจัดกิจกรรมให้เด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเสริมให้เด็กมีทักษะรอบด้าน พร้อมเอาตัวรอดในศตวรรษที่ 21
ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียน 1,689 คน ครูประจำการ 94 คน บุคลากรสนับสนุนการสอน 6 คน พี่เลี้ยง 7 คน มีอาคารเรียน 7 หลัง อาคารประกอบ 4 หลัง มีห้องเรียน 50 ห้อง ห้องประกอบการเรียนการสอน 28 ห้อง ห้องประกอบการอื่นๆ 70 ห้อง จัดการเรียนการสอนในวิชาสามัญ เพิ่มเติมโปรแกรม IEP ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รับนักเรียนชาย – หญิง ทั้งประจำและไป – กลับ